บทความวิชาการ

สถานประกอบกิจการใดบ้างที่ต้องมี จป. และ มี จป. ระดับใดบ้าง

ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานฯ พ.ศ. 2549 มีการกำหนดสถานประกอบกิจการต้องมี จป. ดังนี้
  1) การทำเหมืองแร่ เหมืองหิน กิจการปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมี
  2) การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง เก็บรักษา ปรับปรุง ตกแต่ง เสริมแต่งดัดแปลง แปรสภาพ ทำให้เสีย หรือทำลายซึ่งวัตถุหรือทรัพย์สิน รวมทั้งการต่อเรือ การให้กำเนิดแปลง และจ่ายไฟฟ้าหรือพลังงานอย่างอื่น
  3) การก่อสร้าง ต่อเติม ติดตั้ง ซ่อม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ทางรถใต้ดิน ท่าเรือ อู่เรือ สะพานเทียบเรือ ทางน้ำ ถนน เขื่อน อุโมงค์ สะพาน ท่อระบาย ท่อน้ำ โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ก๊าซหรือประปา หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมทั้งการเตรียมหรือวางรากฐานของการก่อสร้าง
  4) การขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าโดยทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และรวมทั้งการบรรทุกขนถ่ายสินค้า
  5) สถานีบริการหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ
  6) โรงแรม
  7) ห้างสรรพสินค้า
  8) สถานพยาบาล
  9) สถาบันทางการเงิน
  10) สถานตรวจทดสอบทางกายภาพ
  11) สถานบริการบันเทิง นันทนาการ หรือการกีฬา
  12) สถานปฏิบัติการทางเคมีหรือชีวภาพ
  13) สำนักงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนสถานประกอบกิจการตาม ข้อ 1) ถึง 12)
  14) กิจการอื่นตามที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด
  ในสถานประกอบกิจการตามข้อ 1) ถึง 5) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่สองคนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามข้อ 6) ถึง 14) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไป ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานของสถานประกอบกิจการ และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ
   ในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2) ถึง 5) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปแต่ไม่ถึงห้าสิบคนต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคประจำสถานประกอบกิจการ
  ในสถานประกอบกิจการตามข้อ 2) ถึง 5) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนื่งร้อยคนต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงประจำสถานประกอบกิจการ
  ในสถานประกอบกิจการตามข้อ 1) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่สองคนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามข้อ 2) ถึง 5) ข้างต้นที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพประจำสถานประกอบกิจการ

  โดยสรุปสถานประกอบกิจการใด ๆ จำเป็นต้องมี จป. และเป็น จป.ระดับใด ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการ และจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ นอกจากนี้ ตามกฎหมายในสถานประกอบกิจการเดียวไม่มีสถานประกอบกิจการใดที่ต้องมี จป.ครบทั้ง 5 ระดับ จะมีเพียงบางสถานประกอบกิจการ ที่มี จป.2 ระดับ คือ จป.ระดับบริหาร และ จป.ระดับหัวหน้างาน และบางสถานประกอบกิจการที่มี จป.3 ระดับ คือ จป.ระดับบริหาร จป.ระดับหัวหน้างาน และ จป.ระดับเทคนิค หรือ จป.ระดับบริหาร จป.ระดับหัวหน้างาน และ จป.ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือ จป.ระดับบริหาร จป.ระดับหัวหน้างาน และ จป.ระดับวิชาชีพ