บทความวิชาการ

อุปกรณ์ช่วยยกในงานเครนนั้นสำคัญไฉน

  ปัจจุบันเครน(ปั้นจั่น) จัดว่าเป็นเครื่องจักรกลที่มีบทบาทมากในงานยกเคลื่อนย้ายวัสดุ ผู้ประกอบการต่างๆไม่ว่าจะเป็นส่วนงานอุตสาหกรรม หรืองานก่อสร้าง ต่างก็เลือกใช้เครนชนิดต่างๆให้เหมาะสมกับงานยกตามประเภทของงานนั้นๆ แต่ไม่ว่าเครนจะนำมาใช้ยกอะไร สิ่งที่สำคัญในการยกครั้งนั้นอาจจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการยก นั่นก็คือ “อุปกรณ์ช่วยยก” อาทิเช่น ลวดสลิง, โซ่ยก, สลิงผ้าใบ, สเก็น, อายโบล์ท, มาสเตอร์ลิงค์, คานยก ,ตะขอยก ฯลฯ ซึ่งสำหรับตัวเครนเองจะมีระบบความปลอดภัยมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกฎหมาย หรือในส่วนของวิศวกรมาทดสอบทุกปี แต่ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ช่วยยก ไม่ได้ถูกระบุไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครนตัวนั้นๆ ดังนั้นระบบความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ช่วยยกจึงถูกมองข้ามไป ไม่ว่าเรื่องของกฎหมาย หรือการทดสอบโดยวิศวกร

บทความนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้เครนตระหนักด้านการใช้งานอุปกรณ์ช่วยยกให้มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากที่สุด โดยที่ผู้ใช้งานอาจจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหัวข้อที่เป็นปัจจัยหลักดังนี้

  ขีดจำกัดในการใช้งานอุปกรณ์ช่วยยก : อุปกรณ์ช่วยยกทุกชนิดมีทั้งแบบที่ผลิตมาตามมาตรฐาน และไม่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องทราบว่าอุปกรณ์ช่วยยกแต่ละชนิดผู้ผลิตได้บอกขีดความสามารถ ในการใช้งานสูงสุดไว้อยู่ในรูปแบบใด ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตมาตามมาตรฐานก็จะมีบอกไว้เป็นเอกสาร หรือบอกที่ตัวอุปกรณ์โดยตรง แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีมาตรฐานการผลิต ผู้ใช้งานก็ไม่สามารถทราบได้ว่าขีดความสามารถสูงสุดใช้ได้เท่าใด จึงแนะนำว่าไม่ควรนำมาใช้งาน

  ลักษณะท่าทางในการผูกมัดยึดเกาะที่ถูกวิธี : อุปกรณ์ช่วยยกทุกชนิด ผู้ผลิตจะมีข้อแนะนำในการใช้งานที่ถูกวิธี ซึ่งวิธีการผูกมัดหรือยึดเกาะต่างๆ อาจมีผลทำให้ความแข็งแรงของอุปกรณ์แต่ละชนิดลดลง หรือเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ใช้งานต้องศึกษาลักษณะท่าทางในการผูกมัดยึดเกาะที่เหมาะสมกับหน้างาน โดยอ้างอิงจากข้อแนะนำจากผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด เพราะอุปกรณ์บางชนิดมีความเสี่ยงสูงมากถ้าเกิดมีการผู้มัดยึดเกาะที่ผิดวิธี หรือนอกเหนือจากข้อแนะนำ ของผู้ผลิต

  เกณฑ์การยกเลิกการใช้ : ตามมาตรฐานสากลจะมีบอกไว้ว่าอุปกรณ์ช่วยยกแต่ละชนิดที่มีมาตรฐานการผลิต จะต้องมีเกณฑ์การยกเลิกการใช้งานอยู่ในลักษณะสภาพแบบใด ผู้ใช้งานควรจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบ เพื่อที่จะทำ การยกเลิกการใช้งาน และจำหน่ายทิ้งก่อนที่อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสียหายจากการใช้งานจริง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานที่ผู้ใช้งานเครนควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหัวข้อที่กล่าวมา ซึ่งในประเทศไทยยังคงมีอุบัติเหตุที่มาจากการใช้อุปกรณ์ช่วยยกแบบผิดๆอยู่ ดังนั้นแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานโดยตรงตามกฎหมาย เช่นผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยต่อไป

อาจารย์ชวนะ วงศ์สหาก (เขียน / เรียบเรียง)